ความเป็นมาของสถาบัน

สมาคม ส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. เป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจ และความเสียสละของกลุ่มบุคคลที่เคยไปศึกษาและฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น โดยมี ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้ง และได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก อาจารย์โงอิจิ โฮซุมิ อดีตประธานคณะกรรมการสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ส.ส.ท. ได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินกิจกรรมจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส.ส.ท. ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่บุคลากรไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานของ ส.ส.ท. มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสร้างชื่อเสียงในหลายด้าน อาทิเช่น การจัดอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การจัดสอนภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม การจัดพิมพ์หนังสือและวารสารทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการใหม่ๆ และให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมากมาย จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการฝึกอบรมวิชาการสาขาต่างๆ ให้กับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา จึงทำให้ ส.ส.ท. มีดำริที่จะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทางขึ้น เพื่อป้อนบุคลากรให้แก่สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทย และในปี พ.ศ.2548 ส.ส.ท. จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นในนาม “สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น” โดยใช้คำย่อว่า ส.ท.ญ. หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai-Nichi Institute of Technology” โดยใช้คำย่อว่า TNI และเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 สถาบันฯ ได้รับอนุญาตการจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งใหม่ และเริ่มเปิดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ในหลักสูตรต่างๆ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่เน้นเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม สารสนเทศและการบริหารจัดการที่จำเป็นสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย

ปรัชญา

สมาคม ส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) มีปรัชญาในการดำเนินงานที่ว่า “เผยแพร่วิทยาการ สร้างฐานเศรษฐกิจ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและเป้าหมายการดำเนินงานและการบริการต่างๆ ที่เด่นชัดของสมาคมฯ ตลอดระยะเวลา 50 ปี สมาคมฯ ได้แสดงบทบาทเสมือนสะพานแห่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบริหารและวิศวกรรม จากญี่ปุ่นสู่บุคลากรไทยให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งนับว่าเป็นองค์การที่มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความ รู้ความสามารถ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ คณะกรรมการก่อตั้งสถาบันฯ จึงดำริให้ปรัชญาการดำเนินงานของสมาคมฯ และสถาบันฯ มีความสอดคล้องกัน เพื่อเสริมสร้างคุณค่ากิจกรรมและงานบริการของกันและกัน และขยายบทบาทการให้บริการโดยให้สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรของประเทศ และเป็นแหล่งพัฒนาวิทยาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ และให้สถาบันฯ เป็นหนึ่งในช่องทางเพื่อเผยแพร่วิทยาการและองค์ความรู้เหล่านั้นแก่สังคม โดยเฉพาะแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย ด้วยเหตุนี้ปรัชญาการดำเนินงานของสถาบันฯ จึงมีว่า “พัฒนาวิทยาการ เสริมสร้างอุตสาหกรรม เพื่อเศรษฐกิจและสังคม”

รอบรั้วสถาบัน

ปณิธาน

"สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มุ่งมั่นเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและ วิชาชีพเฉพาะทางชั้นสูง เพื่อเป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรในด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การบริหารจัดการที่ทันสมัย มีความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์ และการเผยแพร่องค์ความรู้แก่สังคมโดยยึดมั่นในคุณธรรมและจิตสำนึกต่อสังคม"

วิสัยทัศน์

"เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำทางด้านเทคโนโลยี และ การจัดการ ที่เน้นทักษะการสื่อสาร มีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศที่เข้มแข็ง มีความเป็นเลิศทางวิชาการและการประยุกต์ และเป็นศูนย์กลาง เผยแพร่องค์ความรู้แก่สังคม"

พันธกิจ

  1. จัดการ การศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาชีพเฉพาะทางชั้นสูงที่เป็นความต้องการของ ภาคธุรกิจและ ภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ การปฏิบัติ และการประยุกต์ใช้จริง
  2. พัฒนานักศึกษาให้มีความรู้คู่คุณธรรม คิดเป็นทำเป็น มีความรับผิดชอบในการทำงานเป็นแบบอย่างที่ดีและมีจิตสำนึกต่อสังคม
  3. ดำเนินการวิจัย สร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
  4. ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
  5. ทำนุบำรุง ส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย

อัตลักษณ์ของบัณฑิต

"รอบรู้ในศาสตร์ เก่งการจัดการ มุ่งมั่นและสร้างสรรค์ด้วยวิถีไทย-ญี่ปุ่น พร้อมทักษะการสื่อสาร มีคุณธรรมและจิตสำนึกต่อสังคม"

เอกลักษณ์ของสถาบันฯ

"พัฒนาคนและวิทยาการ เพื่อเสริมสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยวิถีไทย-ญี่ปุ่น"

จุดเด่นและจุดเน้นของสถาบันฯ

  1. ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น
  2. การพัฒนานักศึกษาตามหลักโมโนซุคุริ

ค่านิยมหลัก

  1. Monozukuri (คิดเป็น ทำเป็น)
  2. Kaizen (ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง)
  3. Hansei (Self-Reflection พิจารณาและปรับปรุงตนเองก่อน)
  4. Honest (ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น)
  5. Respect (ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น)
  6. Public-Interest Conscious (ตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวม)

สัญลักษณ์และสีประจำสถาบัน

สัญลักษณ์ของสถาบันฯ

รูปร่างของเครื่องหมาย ประกอบด้วย

  1. ฟันเฟืองสีน้ำเงินและมีชื่อสถาบันฯ เป็นภาษาอังกฤษอยู่บนฟันเฟือง
  2. สัญลักษณ์ตัวอักษร A รูปทรงคล้ายหน้าจั่วทรงไทย ปลายยอดทะลุฟันเฟือง และมีตัวอักษรย่อชื่อ สถาบันฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า "TNI " และมีสีแดง

ความหมายของเครื่องหมาย

  1. ฟัน เฟือง หมายถึง การพัฒนาที่ต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นคุณลักษณะของสถาบันฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่จะต้องมีความทันสมัย และพัฒนาตนเองให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป
  2. สัญลักษณ์ ตัวอักษร A ที่มีรูปทรงคล้ายหน้าจั่วทรงไทย หมายถึง การเป็นสถาบันฯ แห่งภูมิภาคเอเชียที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่วนปลายยอดทะลุฟันเฟืองออกไป แสดงถึงองค์ความรู้และปัญญาที่ไม่มีกรอบ ไม่มีพรมแดน ซึ่งแทนความเป็นสถานศึกษาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ไร้พรมแดน

สีประจำสถาบันฯ

สถาบันฯ ใช้สีน้ำเงิน และสีแดงเป็นสีประจำสถาบันฯ

  1. สีน้ำเงิน เป็นสีประจำสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นองค์กรผู้ก่อตั้งและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากนี้สี น้ำเงินยังหมายถึง สติปัญญา ความกว้างไกล ความสูงส่งและมีเกียรติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้สถาบันฯ แห่งนี้ เป็นสถานศึกษาที่ส่งเสริมการศึกษาของบุคลากรของไทยให้มีวิสัยทัศน์ ความรู้และสติปัญญาที่กว้างไกล สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ด้วยความภาคภูมิ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี
  2. สีแดง เป็นสีของพระอาทิตย์และทิศตะวันออก ซึ่งบ่งบอกความเป็นสถาบันฯ ที่มุ่งสั่งสมและถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ปรัชญา และเทคโนโลยีตะวันออก โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น นอกจากนี้สีแดง ยังเป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ และคุณธรรม ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันฯ เป็นบุคลากรที่มีคุณธรรม มีความสำเร็จ สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเอง องค์กร และประเทศชาติ

พระประธานประจำสถาบัน


พระประธานประจำสถาบัน เป็นพระพุทธรูปปางลีลา จัดสร้างขึ้นเมื่อวันพุธที่ 24 มกราคม 2550 ภายใน เศียรของพระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงโปรดเมตตาประธานให้และยังได้ทรงตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธมหามงคลสิริพัฒนาสถาบัน" เนื่องในวโรกาสการเปิดสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ทั้งนี้ เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาได้สักการะบูชาเป็นที่ ยึดเหนี่ยวจิตใจและได้ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมภาษาบาลีที่ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปหรือความชั่วทั่งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำแต่กุศลหรือความดีให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว"

ต้นไม้ประจำสถาบัน


ต้นไม้ประจำสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น Tebebuia rosea (Berto) คือ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "ไทยซากุระ" เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางสูงราว ๘-๑๒ เมตร ใบเป็นแบบผสมมีใบย่อย ๕ ใบบนต้นเดียวกัน แผ่ออกคล้ายใบปาล์ม ผิวไม่เรียบ ปลายใบแหลมยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร กิ่งก้านสาขาแผ่ออก เป็นพุ่ม ค่อนข้างแน่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ใบแก่และทิ้งใบในฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม หลังจากนั้นจะออกดอก สีของกลีบดอกปกติเป็นสีชมพูสดใสในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งก้านช่อละ ๕-๘ ดอก ดอกย่อยลักษณะคล้ายดอกผักบุ้งหรือปากแตร คือโคนดอกเป็นหลอดยาว ปลายดอกบานออกเป็น ๕ กลีบ กลีบดอกบาง ย่นเป็นจีบๆ ร่วงหล่นง่าย จะเห็นดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นกระจายอยู่รอบต้นงดงามพอกับที่บานอยู่บนต้น "

อนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้ง


อนุสาวรีย์ ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล และอาจารย์โงอิจิ โฮซุมิ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และผู้วางรากฐานและแนวคิดการก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันครบรอบ 5 ปีวันคล้ายวันสถาปนาสถาบัน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2555