เรียนวิศวะ ที่ TNI ฝึกฝนทักษะเฉพาะด้านจนเชี่ยวชาญ สู่การปฏิบัติงานจริงบนสนามแข่ง Student Formula ครั้งที่ 17 

    ทีม CarreraZ Racing จากชมรมเกียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) นำโดย อาจารย์ภาสกร พันธุ์โอภาส อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ เข้าร่วมการแข่งขัน Student Formula ครั้งที่ 17 ในรายการ TSAE Auto Challenge 2023 จัดโดย สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย ระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์ โดยทีม CarreraZ Racing ได้นำรถ Student Formula เข้าร่วมการแข่งขันทั้งประเภทเครื่องยนต์สันดาป (Engine) และเครื่องยนต์ไฟฟ้า (EV) มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 31 ทีม


     จากการที่ TNI มุ่งเน้นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมและการศึกษามาตั้งแต่เริ่มแรก แนวคิด 5Gs of Monodzukuri จึงได้ถูกออกแบบให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้ตลอดการแข่งขันทั้ง 3 วัน นักศึกษาทั้งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้นำหลักการ (Genri) หรือองค์ความรู้ในห้องเรียน มาบูรณาการสู่ภาคปฏิบัติจริง (Genbutsu) ในสนามแข่ง แบบเข้มข้น ทั้งการนำเสนอโมเดลธุรกิจ รูปแบบ Design รถ การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ในสนามแข่ง การ Inspection และการตรวจสอบด้านความปลอดภัยจากคณะกรรมการ ก่อนนำรถลงไปวิ่งในสนาม รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าของนักขับ เมื่อรถเกิดปัญหาในขณะแข่งขัน และการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายของรถ เพื่อให้กลับมาแข่งได้ในรอบถัดไป (Genjitsu) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นหน้างานจริง (Genba) ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ เพราะทุกด่านของการแข่งขันต้องอยู่ในกรอบเวลาและกฎกติกาความปลอดภัยในการแข่งขัน (Gensoku) ซึ่งเป็นกฎกติกาสากล ของ SAE (Society of Automotive Engineers)


    อาจารย์ภาสกร ที่ปรึกษา ทีม CarreraZ Racing กล่าวว่า “การเรียนรู้สไตล์ญี่ปุ่น แบบ Monodzukuri ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง รวมถึงการแก้ไขปัญหา ควบคู่การทำโครงการต่าง ๆ ที่เป็นแนวทางของสถาบันมาโดยตลอดนั้น ได้นำเอาภาคทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติจริงในสนามแข่งขัน เพราะนักศึกษาจะได้ร่วมกันปฏิบัติงานด้านวิศวกรรม ทั้งทีมออกแบบรถ ทีมประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ ทีมนักขับ ทีมช่างเทคนิค ทีมอำนวยการ ที่ต้องประสานงานและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ผ่านการทดสอบต่างๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานให้ผ่านไปได้ด้วยดี ประสบการณ์จริงเหล่านี้ เป็นโอกาสสำคัญที่นักศึกษานำไปต่อยอดในการทำงานได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานด้าน R&D และ Design ในค่ายรถยนต์ หรือเข้าสู่อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งประเภทเครื่องยนต์ (Engine) และรถยนต์ EV ที่กำลังมาแรงในขณะนี้”


    ในด้านการแข่งขันและการทดสอบประสิทธิภาพด้านต่างๆ “มีหลายทีมที่มีความโดดเด่น โดยในปีนี้มีทีม Student Formula ประเภท Formula EV (รถยนต์ไฟฟ้า) จากประเทศมาเลเซียเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งจากทั้งหมด 12 ทีม ในประเภท Formula Electric นี้ มีเพียงทีมของ CarreraZ Racing ของ TNI กับทีมจากมาเลเซียเท่านั้น ที่สามารถผ่านการ Inspection เข้ามาแข่งขันจนถึงรอบ Endurance ในวันสุดท้ายได้ ส่วนประเภทเครื่องยนต์ Engine ทางทีมสามารถแข่งขันได้ครบทุก Station และมีคะแนนรวมลำดับที่ 9 จาก 31 ทีม ซึ่งยังคงต้องพัฒนาขีดความสามารถในหลายด้านขึ้นไปอีก โดยทั้ง 2 ประเภท ต้องนำปัญหาและข้อบกพร่องต่าง ๆ กลับไปวางแผน เพื่อแก้ไขและปรับปรุงในปีหน้าครับ” อาจารย์ภาสกรกล่าว

ดูคลิป ได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=k7RCbX4vxiw



SHARE :