มีข่าวดี ของชาว TNI อีกแล้ว เมื่อนักศึกษา สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (AE) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ไปคว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. PLC Competition ครั้งที่ 17 การแข่งขัน "Robo Saleng" ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 หลังรุ่นพี่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันรายการนี้ไปเช่นเดียวกันเมื่อการแข่งขันในปี 2019 (หุ่นยนต์เก็บมะม่วง)  

    วันนี้เรามาพูดคุยกับน้องๆ ทีม “มูสังแย้ว”  ที่คว้ารางวัลชนะเลิศมาในครั้งนี้ คือ นายพีรพงษ์ ทองเจือ (เจ) นายไตรภพ สัจธรรม (เกม) และนางสาวพิมพ์ชนก อมรวิวัฒน์พงศ์ (หงษ์หยก) นักศึกษาสาขาวิศวกรรมยานยนต์ (AE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 (ส่วนชื่อ ‘มูสังแย้ว’ มาจากภาษาถิ่นภาคใต้ หมายถึงชะมดนั่นเอง) พร้อมด้วย ผศ. นเร็นศ ชัยธานี อาจารย์จิรพงศ์ สุขาทิพย์ และอาจารย์พงศ์กรณ์ มีลาภโชติพงศ์ คณะอาจารย์ที่ดูแลการแข่งขัน 

การแข่งขันมีความพิเศษอย่างไรบ้าง

    ผศ.นเร็นศ : การแข่งขันประเภท PLC จะมีโจทย์เกมเปลี่ยนไปทุกปี สำหรับปีนี้ เป็น Robo Saleng คือ หุ่นยนต์เก็บขยะ และคัดแยกขยะ ซึ่ง PLC ก็คือ ตัวควบคุมเครื่องจักร ที่ส่วนใหญ่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นระบบอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก นอกจากนี้ก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นเหมือนแขน ขา ทำงานร่วมกับระบบควบคุม เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ หยิบจับหรือทำงานได้อย่างถูกต้องตามโจทย์ ซึ่งต้องคัดแยกขยะให้ถูกประเภทและเก็บขยะให้ได้มากที่สุด 


การคัดเลือกนักศึกษาเข้าแข่งขัน 

    ผศ.นเร็นศ : หลังเปิดรับสมัคร มีนักศึกษาหลายกลุ่มจากหลายสาขา ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ความสนใจเข้าร่วมสมัคร โดยอาจารย์ได้ติวความรู้พื้นฐาน ด้าน PLC จากนั้น น้องๆ ได้ไปสอบคัดเลือก และทีมมูสังแย้วผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย จากผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน 42 ทีม จึงได้เริ่มสร้างหุ่นยนต์ เพื่อเตรียมลงแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ การเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ ต้องการให้น้องๆ ได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียนมากกว่าผลรางวัล 

    อ.จิรพงศ์ : อยากให้น้องๆ ได้รับประสบการณ์จากการแข่งขัน ได้พบเจอปัญหา และสามารถวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ส่วนผลการแข่งขันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ นับว่าสร้างความภาคภูมิใจให้กับสถาบัน ที่สามารถรักษาแชมป์ไว้ได้

มองเป้าหมายในอนาคตสำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ ของ TNI ไว้อย่างไร

    ผศ.นเร็นศ : สำหรับการแข่งขันรายการนี้ จะส่งนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันและพยายามรักษามาตรฐานต่อเนื่องไปทุกปี โดยมองว่าการสร้างหุ่นยนต์ของนักศึกษาไทย ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก และจะพยามผลักดันให้นักศึกษา TNI ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมแข่งขันในรายการอื่นๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะการส่งเสริมให้ได้ประสบการณ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ 

    อ.พงศ์กรณ์ : นักศึกษาทุกคนที่มีความตั้งใจ ขยัน ไม่ย่อท้อ ทุ่มเทอย่างหนัก ในการสร้างหุ่นยนต์เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด เพียงประมาณ 2 เดือนเท่านั้น  ในการสร้างและทดสอบหุ่นยนต์ และการที่ได้หุ่นยนต์ที่คว้ารางวัลชนะเลิศครั้งนี้มาได้นั้น ต้องผ่านการทดสอบ ปรับแก้ไขให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดก่อนลงสนามแข่งขัน 

มาพูดคุยกับน้องๆ ทีมมูสังแย้ว กันบ้าง ความท้าทายของการแข่งขันครั้งนี้

    การแข่งขันครั้งนี้เป็นการสร้างหุ่นยนต์เก็บขยะและคัดแยกขยะประเภทพลาสติก กระดาษ และอลูมิเนียม โดยที่คณะกรรมการไม่ได้บอกขนาดและรูปทรงของขยะ ทำให้ต้องเดาใจกรรมการเอง จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่ปรึกษาทำให้ทีมได้สร้างหุ่นยนต์ ที่สามารถเก็บขยะได้ในปริมาณมาก และสามารถคัดแยกประเภทจากขนาดขยะได้ ส่งผลให้ทีมคว้ารางวัลชนะเลิศ!!

ทำไมน้องๆ ถึงให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้

    ทีมมูสังแย้ว เกิดจากการรวมตัวกันโดยเริ่มจากพิมพ์ชนก (หงษ์หยก) ที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมการแข่งขันใดๆ เป็นผู้ชักชวนไตรภพ (เกม) ที่เคยผ่านการแข่งขันหุ่นยนต์และได้รับรางวัล ระดับมัธยมศึกษามาแล้ว และพีรพงษ์ (เจ) ที่เคยผ่านการแข่งขันวิชาการระดับมัธยม โดยทุกคนตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขัน เพราะมองว่าเป็นโอกาสดี ที่จะได้ท้าทายตัวเอง ดำเนินรอยตามรุ่นพี่ที่เคยคว้ารางวัลชนะเลิศมาก่อนหน้านี้  


สิ่งที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้

    ขั้นแรกคือได้ใช้ทักษะการใช้เครื่องมือ ในการสร้างหุ่นยนต์ เช่น การตัดเหล็ก เชื่อมเหล็กด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ได้จากการเรียนเวิร์คชอป ปี 1 ส่วนการประดิษฐ์หุ่นยนต์นี้ ต้องใช้ทักษะที่ยากขึ้น โดยอาจารย์คอยให้คำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งต้องทำหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ ทำให้ได้ฝึกฝน และพัฒนาความสามารถขึ้นไปอีก

    สิ่งสำคัญ คือ ได้ฝึกการเขียนโปรแกรม PLC ซึ่งเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติที่เครื่องจักรในอุตสาหกรรมต้องใช้ และเป็นวิชาที่ทุกคนต้องได้เรียนในชั้นปีที่ 3 แต่การแข่งขันนี้ทำให้ได้ติวกับอาจารย์ก่อน และเมื่อได้ฝึกเขียนจริง ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้ในอนาคต เปรียบการแข่งขันครั้งนี้ เป็นเหมือนบันไดสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ทำให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทักษะต่างๆ โดยเฉพาะการวางแผน การคิดเป็นลำดับขั้นตอน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การใช้ปฏิภาณในการมองหาจุดบกพร่อง จุดต่างของคู่แข่งในเวลาที่จำกัด ซึ่งทีมสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ ด้วยการเก็บขยะได้ในจำนวนที่มากกว่า จากการตัดสินใจที่ถูกต้อง คือการไม่ใช้เซนเซอร์ ในการคัดแยกขยะนั่นเอง ช่วงเวลากว่าสองเดือนของการปิดเทอม อาจเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน สำหรับน้องๆหลายคน แต่สำหรับน้องๆที่ตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันแล้ว ทุกวินาทีคือการลงมือทำ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ประดิษฐ์ชิ้นงาน ผ่านมือไปไม่น้อยตามแนวทางการเรียนแบบ Monodzukuri เพื่อสร้างหุ่นยนต์เก็บขยะและคัดแยกขยะตรงตามโจทย์การแข่งขัน และเอาชนะได้ในที่สุด นี่จึงเป็นอีกการแข่งขันที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเสมอมา เพราะนอกจากเป็นการสร้างชื่อให้ทั่วประเทศได้รับรู้ถึงความสามารถของนักศึกษาในสถาบันแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่า และประสบการณ์ให้กับน้องๆ นักศึกษาได้ภาคภูมิใจและส่งต่อให้แก่รุ่นต่อๆ ไปด้วย



SHARE :